ประวัติวิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษมและความมุ่งหมาย

วิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม เดิมชื่อโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค ตั้งอยู่เลขที่3/1 ซอยปรีดีพนมยงค์ 37 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงคลองตัน-เหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์10110 โทรศัพท์ 02-3919030 โทรสาร023927021 Website :pcyk.ac.th สังกัดสำนักบริหารงานอาชีวศึกษาเอกชน   สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่พุทธศักราช 2511 โดยจัดแบบสหศึกษาสอนตามหลักสูตรกระทรวง ศึกษาธิการ ต่อมาในปีการศึกษา 2523 โรงเรียนเห็นว่าในขณะที่ประเทศชาติพัฒนาแต่ขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญในหลายสาขาอาชีพ โรงเรียนจึงได้ขยายหลักสูตรวิชาชีพขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีความรู้ด้านวิชาชีพอย่างกว้างขวาง ให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และในปีการศึกษา 2523 โรงเรียนได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อให้นักเรียนที่เรียนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีโอกาสศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ให้ได้มีความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้นทันกับความต้องการของหน่วยงานราชการและของภาคเอกชนในทุกสาขาวิชา ปีการศึกษา 2525 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) เพิ่มขึ้นในประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการธนาคารและธุรกิจการเงิน สาขาวิชาเทคนิคการตลาดและการขาย และสาขาวิชาการเลขานุการ โดยเปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อไป ในปีการศึกษา 2546  เปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยี-สารสนเทศ  โดยเปิดรับนักเรียนจากระดับชั้น ปวช. และ ม.6 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยี

ในปีการศึกษา 2555 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม มุ่งเน้นด้านระเบียบวินัยและคุณภาพเป็นสำคัญ โดยมีนายเกษม สุวรรณดีเป็นผู้ก่อตั้งและดร.วัลลภ   สุวรรณดี เป็นผู้รับใบอนุญาต โดยมีอุดมการณ์ที่จะจัดการศึกษาให้เยาวชนของชาติให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคตต่อไป

จากความมุ่งมั่นและความเชื่อมั่นในปรัชญาการศึกษาที่ว่า “การศึกษาวิชาการต่าง ๆ คือรากฐานของชีวิต” จึงได้จัดการศึกษาโดยยึดหลักปรัชญาเป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนการสอนจนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน โดยได้กำหนดปรัชญาของวิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษมไว้ดังนี้

 

ปรัชญาวิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม

"ความรู้คู่คุณธรรม"

ความรู้ หมายถึง วิทยาลัยฯ มุ่งเน้นจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้านทักษะ การฝึกภาคปฏิบัติ และประสบการณ์จริงในการประกอบอาชีพ และกำหนดแนวยุทธศาสตร์ทางปัญญาให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็น คิดแบบสร้างสรรค์ มีความรอบรู้ในการแก้ปัญหา สามารถพัฒนาตนเองให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

คุณธรรม หมายถึง วิทยาลัยฯมุ่งสร้างรากฐานค่านิยมที่ดีงาม โดยการจัดการเรียนการสอนผสมผสานสาระความรู้ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

สภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนบริเวณสถานศึกษา

วิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม ตั้งอยู่เลขที่3/1 ซอยปรีดีพนมยงค์ 37 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงคลองตัน-เหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศจัดตั้งเขตวัฒนาขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541

ลักษณะทางกายภาพ ด้านทิศเหนือ แนวคลอง คลองตัน ถนนเพชรบุรี ถนนรามคำแหง ด้านทิศตะวันออก แนวถนนปรีดีพนมยงค์ฝั่งเลขคี่ ทางด้านทิศใต้ ติดแนวถนนสุขุมวิท ทางทิศตะวันตกติดแนวถนนเชื่อต่อระหว่างถนนเอกมัย-ทองหล่อ พื้นที่ตั้งของวิทยาลัยมีความเจริญเติบโตทางกายภาพและด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร มีความสะดวกในการคมนาคมและระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เรือโดยสาร และ รถโดยสาร โดยมีถนนสุขุมวิท ถนนรามคำแหง  และถนนเพชรบุรี เป็นถนนสายหลักเชื่อมโยงแหล่งธุรกิจพาณิชยกรรมในพื้นที่

ลักษณะทางเศรษฐกิจ เป็นเขตเศรษฐกิจเมือง เป็นแหล่งพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามแนวถนนสายหลักและสายรอง มีพื้นที่พาณิชยกรรมรองจากพื้นที่พักอาศัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร มีร้านค้า ร้านอาหารนานาชาติ สถานประกอบการ และ แหล่งให้บริการด้านต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงและธุรกิจงานแต่งงาน ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

ลักษณะทางประชากรและสังคม มีที่พักอาศัยและอาคาร ประเภทต่างๆ จานวน 66,284 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับปานกลางถึงระดับสูง สภาพสังคมมีลักษณะผสมผสานในด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และคริสต์

มีชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาใหม่ตามแนวความเจริญของถนนสายหลัก ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย และร่วมกับภาครัฐจัดกิจกรรมตามเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง